3)อาการแสดงของโรค
โรคไข้เลือดออกเดงกี มีอาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ เรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลัง ดังนี้
1.ไข้สูงลอย 2-7 วัน
2.มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง
3.มีตับโต กดเจ็บ
4.มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว/ภาวะช็อกได้ประมาณ 1/3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออก
สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกก็คือ อาการต่างๆ ที่ทำให้สงสัยว่าลูกอาจเป็นไข้เลือดออก โดยอาการของโรคแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะแรก (ระยะไข้สูง) ระยะนี้มักไม่ค่อยมีอาการจำเพาะ เด็กจะมีไข้สูงและเป็นหลายวัน (ประมาณ 3-7 วัน) โดยอาจมีอาการหวัด ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ในช่วงฤดูไข้เลือดออก หากลูกมีไข้สูงหลายวัน คุณพ่อคุณแม่ควรนึกถึงการติดเชื้อไข้เลือดออกด้วยเสมอ ควรพาลูกไปพบแพทย์ ไม่ควรพยายามรักษาเอง และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดไข้ประเภทแอสไพรินและไอบูโพรเฟน ซึ่งอาจทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารและเกิดปัญหาเลือดออกในกระเพาะอาหาร รวมถึงเลือดไม่แข็งตัวเมื่ออาการของไข้เลือดออกเป็นรุนแรงถึงขั้นระยะช็อกได้
- ระยะวิกฤติ (ระยะ 3 วันอันตราย อาจเสี่ยงกับอาการช็อกได้) ผู้ป่วยมักมีไข้มาแล้วหลายวัน จนถึงระยะที่ไข้จะเริ่มลดลง อาการทั่วไปจะดูเพลียมากขึ้น อาจมีอาการปวดเมื่อยตัวมากขึ้น รวมถึงมีอาการปวดท้อง ท้องอืด เบื่ออาหาร ผิวหน้า-ฝ่ามือ-ฝ่าเท้าดูแดงๆ ในช่วงนี้เด็กบางคนอาจพูดคุยได้ดี แต่ก็ยังต้องคอยตรวจวัดชีพจรและความดันโลหิตเป็นช่วงๆ บ่อยๆ ร่วมกับดูปริมาณน้ำและอาหารที่รับประทานเข้าไปเทียบกับปริมาณปัสสาวะที่ออกมาในแต่ละช่วงของวัน ในบางรายอาจมีอาการท้องอืดมากขึ้น กระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ร่วมกับไข้ที่ลดลงเป็นอุณหภูมิปกติ ซึ่งอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจผิดว่าเด็กกำลังจะหายจากไข้เลือดออกแล้ว ทั้งๆ ที่เด็กอาจกำลังเข้าสู่ระยะช็อกที่จะมีความรุนแรงตามมาในอีกไม่กี่ชั่วโมงนี้ก็ได้
- ระยะฟื้นตัว เป็นระยะหลังไข้ลง โดยไม่มีอาการช็อกแล้วเกล็ดเลือดจะเริ่มกลับสูงขึ้น ชีพจรและความดันโลหิตเริ่มคงที่ดีขึ้น ปัสสาวะเริ่มออกมากขึ้น การไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองที่เคยซึมรั่วไปอยู่ในส่วนอื่นๆ ของร่างกายกลับเข้าสู่ระบบการไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้อวัยวะต่างๆ เริ่มทำงานเป็นปกติ จากนั้นในอีก 2-3 วันต่อมาจะเข้าสู่ระยะที่เรียกว่าหายเป็นปกติ ผู้ป่วยจะเริ่มมีความอยากอาหารบ้าง อาการปวดท้องและท้องอืดจะดีขึ้น รู้สึกมีแรงมากขึ้น มักพบผื่นแดงและคันตามฝ่ามือและฝ่าเท้าโดยไม่มีการลอกตัวของผิวหนัง
4)การดูแลรักษา
ในปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี จึงให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ แพทย์ผู้รักษาจะต้องเข้าใจธรรมชาติของโรค และให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด จะต้องมีการดูแลรักษาพยาบาลที่ดีตลอดระยะวิกฤต คือ ช่วง 24-48 ชั่วโมง ที่มีการรั่วของพลาสมา หลักในการรักษามีดังนี้
1.ในระยะไข้สูง บางรายอาจมีอาการชักได้ถ้าไข้สูงมาก ให้ยาลดไข้ ควรใช้ยาพวกพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาพวกแอสไพริน, ibrupophen, steroid เพราะจะทำให้เกล็ดเลือดเสียการทำงาน จะระคายกระเพาะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น
2.ให้ผู้ป่วยได้สารน้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ทำให้ขาดน้ำและเกลือโซเดียม ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่
3.ติดตามดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ตรวจพบและป้องกันภาวะช็อกได้ทันเวลา
4.ดูการเปลี่ยนแปลงของเกล็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือด ( hematocrit ) เป็นระยะๆ เพราะถ้าปริมาณเกล็ดเลือดเริ่มลดลง และ ความเข้มข้นของเลือด ( hematocrit ) เริ่มสูงขึ้น เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าน้ำเหลืองรั่วออกจากเส้นเลือดและอาจจะช็อกได้ จำเป็นต้องให้สารน้ำชดเชย
5)การป้องกัน
1. อย่าให้ยุงกัด โดยเฉพาะช่วงกลางวันที่เป็นเวลาออกหากินของยุงลายอาจทำได้โดยการสวมเสื้อแขนยาวกางเกงขายาวหรือสวมเสื้อผ้าที่เคลือบสารกันยุง permethrin บ้านควรติดมุ้งลวดบริเวณประตูและหน้าต่าง หรือ นอนกางมุ้ง
2. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยยุงลายจะวางไข่ครั้งละ 50-150 ฟอง ตามภาชนะขังน้ำที่มีน้ำนิ่งใส แม้ว่าภาชนะจะมีน้ำขังเพียงเล็กน้อย เช่น ฝาขวด แก้วพลาสติก ถุงพลาสติก เศษกระถาง ยุงลายก็สามารถวางไข่ได้โดยไข่ของยุงลายจะยึดติดแน่นกับขอบผิวของภาชนะเหนือระดับน้ำเล็กน้อย และสามารถทนทานอยู่ได้นาน เมื่อมีน้ำท่วมถึงก็จะสามารถฟักเป็นตัวอ่อนได้ในเวลาอันรวดเร็ว
3. กำจัดยุงตัวเต็มวัย โดยใช้สเปรย์ฉีดไล่ยุง (เช่น สาร DEET, picaridin, IR3535, lemon eucalyptus เป็นต้น) หรืออุปกรณ์กำจัดยุง เช่น กับดักไฟฟ้า ไม้ช็อตยุง
บทความโดย...พญ.นันทพร จิตขจรวานิช แผนกกุมารเวช
โรงพยาบาลเอกชล (038) 939 999 ต่อ 2159
ติดตามข่าวสารและข้อมูลได้ที่
✅ LINE รพ.เอกชล ชลบุรี
✅ LINE รพ.เอกชล2 (อ่างศิลา)
✅ Facebook: Aikchol Hospital